เส้นเลือดขอด – เส้นเลือดฝอยที่ขา แก้ยังไงให้หายขาด

เส้นเลือดขอด

เส้นเลือดขอด, หลอดเลือดขอด, หลอดเลือดดำขอด, หลอดเลือดขาขอด หรือหลอดเลือดขอดที่ขา (ภาษาอังกฤษ : Varicose veins) เป็นโรคที่เกิดจากการมีเลือดดำคั่งอยู่ในเส้นเลือดดำจึงส่งผลให้เส้นเลือดดำขยายตัว โป่งพอง และขดไปมา ซึ่งโรคนี้สามารถเกิดกับเส้นเลือดดำได้ทั่วร่างกาย เช่น เส้นเลือดดำที่ผนังหลอดอาหาร เส้นเลือดดำที่อวัยวะเพศหญิง เส้นเลือดดำที่ถุงอัณฑะ เส้นเลือดดำที่ทวารหนัก เป็นต้น แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ เส้นเลือดดำที่ขาส่วนที่อยู่ตื้น ๆ ใต้ผิวหนัง (Superficial vein) จึงทำให้มองเห็นได้ชัดเจนและส่งผลให้เกิดปัญหาในด้านของความสวยงามได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดในผู้หญิง
ผู้หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องยืนเกือบทั้งวัน หรือยกของหนัก มักมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น
เส้นเลือดขอดเป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยเป็นโรคของผู้ใหญ่และยิ่งอายุสูงขึ้นก็จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากขึ้น สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่จะพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า โดยทั่วไปพบโรคนี้ได้ในผู้หญิงประมาณ 25-33% และในผู้ชายพบได้ประมาณ 10-20% และยังมีรายงานว่า พบโรคนี้ได้สูงถึง 72% ในผู้หญิงที่อายุ 60-69 ปี แต่จะพบได้เพียง 1% ในผู้ชายที่มีอายุ 20-29 ปี นอกจากจะขึ้นอยู่กับอายุและเพศแล้วยังพบโรคนี้ในคนตะวันตกได้สูงกว่าในคนเอเชีย และมักพบว่ามีพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวเป็นโรคนี้ร่วมด้วย
เส้นเลือดฝอยที่ขา
เส้นเลือดฝอยที่ขา, เส้นเลือดฝอยขอด หรือเส้นเลือดฝอยขยายตัว (Spider veins หรือ Telangiectasia) จะคล้าย ๆ กับเส้นเลือดขอดครับ แต่จะมีขนาดเล็กกว่ามาก และมักจะมีสีแดง สีเขียว หรือสีออกม่วง เพราะเป็นกับเส้นเลือดดำที่อยู่ตื้นใต้ผิวหนัง (ซึ่งต่างจากเส้นเลือดขอดที่มักจะเป็นเส้นเลือดดำขนาดใหญ่ปานกลางถึงใหญ่มาก) สามารถพบเกิดได้ทุกที่แต่ที่พบบ่อย คือ ใบหน้า ต้นขา และน่อง ส่วนสาเหตุและวิธีการรักษาก็จะคล้าย ๆ กับเส้นเลือดขอดครับ
สาเหตุของเส้นเลือดขอด
กลไกการเกิดเส้นเลือดขอดเกิดจากการเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้น (Valve) เล็ก ๆ ที่มีอยู่หลากหลายลิ้นในเส้นเลือดดำที่ขา ซึ่งลิ้นเหล่านี้จะมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมการไหลเวียนของเลือดดำ โดยการปิดกั้นไม่ให้เลือดดำจากขาซึ่งจะต้องไหลย้อนต้านแรงโน้มถ่วงของโลกโดยอาศัยแรงบีบของกล้ามเนื้อบริเวณเท้าเพื่อนำเลือดดำไหลกลับขึ้นสู่หัวใจไหลย้อนกลับลงมาคั่งที่ขา ดังนั้น ถ้าลิ้นเหล่านี้เกิดเสื่อมประสิทธิภาพ การไหลเวียนของเลือดดำก็จะเสียไป ก่อให้เกิดเลือดดำคั่งในเส้นเลือดดำที่ขาอย่างเรื้อรัง และทำให้แรงดันในเส้นเลือดดำนั้น ๆ สูงขึ้นอย่างเรื้อรังตามไปด้วย เป็นผลทำให้ผนังเส้นเลือดดำยืด หย่อน โป่งพอง เกิดเป็นเส้นเลือดขอดขึ้นมา
การเสื่อมประสิทธิภาพของลิ้นในเส้นเลือดนี้อาจเกิดจากการที่ลิ้นเสื่อมหรือเกิดจากการที่ลิ้นปิดไม่สนิทหรือเกิดทั้ง 2 สาเหตุร่วมกันก็ได้ โดยสาเหตุที่ทำให้ลิ้นในเส้นเลือดดำเสื่อมนั้นเชื่อว่าเกิดจากการเสื่อมตามอายุหรือตามพันธุกรรม ส่วนสาเหตุที่ทำให้ลิ้นในเส้นเลือดไม่สามารถปิดกั้นได้สนิทจะมาจากการเพิ่มความดันเรื้อรังในเส้นเลือดดำจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น การยืนเป็นเวลานาน หรือมีการอุดกั้นทางเดินของเลือดดำ เช่น การกดทับเส้นเลือดดำจากก้อนเนื้อหรือก้อนมะเร็งในอุ้งเชิงกราน หรือมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง เช่น จากการตั้งครรภ์ โรคอ้วน หรือจากท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งจะส่งผลให้มีเลือดคั่ง ผนังเส้นเลือดดำจึงยืดขยายโป่งออก ส่งผลให้ลิ้นในเส้นเลือดไม่สามารถปิดกั้นได้สนิท ทำให้การไหลเวียนของเลือดดำลดลงอย่างเรื้อรังจนเกิดการคั่งของเลือดดำในเส้นเลือดดำเรื้อรัง เส้นเลือดดำจึงยิ่งยืดขยายออกและโป่งพอง
ซึ่งพยาธิสภาพทั้งหมดที่กล่าวมานั้นจะวนเวียนเป็นวงจรจนเกิดเป็นเส้นเลือดขอดในที่สุด ซึ่งแพทย์หลายท่านจะไม่นับว่าเส้นเลือดขอดนี้เป็นโรค แต่ถือว่าเป็นอาการหรือภาวะที่เกิดจากการไหลเวียนของเลือดที่ขาไม่ดี
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด
- อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นก็จะยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงขึ้นเนื่องจากการเสื่อมสภาพของลิ้นในเส้นเลือดและเซลล์ผนังเส้นเลือด ซึ่งจะพบโรคนี้มากกว่า 70% ของคนที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป
- เพศ ผู้หญิงจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าผู้ชายประมาณ 3 เท่า เนื่องจากการตั้งครรภ์ที่ส่งผลถึงการเพิ่มความดันในช่องท้อง และจากการมีภาวะหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ ซึ่งฮอร์โมนเพศจะมีส่วนช่วยในการคงความยืดหยุ่นของผนังเส้นเลือด
- พันธุกรรมและเชื้อชาติ เพราะพบโรคนี้ได้สูงขึ้นประมาณ 2 เท่าในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ และพบได้สูงในคนตะวันตกสูงกว่าคนเอเชีย ทั้งนี้อาจมีความสัมพันธ์กับอาหารที่รับประทาน (เส้นเลือดขอดพบได้ประมาณ 12% ของคนตะวันตก ส่วนอุบัติการณ์ที่พบในคนเอเชียจะต่ำกว่า)
- อาชีพ อาชีพที่ต้องยืนหรือนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ๆ หรือต้องยกของหนัก ๆ ทำให้เส้นเลือดมีเลือดคั่งมาก เช่น ทหาร ศัลยแพทย์ พยาบาลในห้องผ่าตัด ครู เป็นต้น
- คนอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน (สูงเกินค่ามาตรฐาน) เพราะโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินจะเพิ่มความดันในช่องท้องให้สูงขึ้น
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ในวัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงวัยทอง หรือแม้กระทั่งการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดก็อาจส่งผลทำให้เกิดเส้นเลือดขอดมากขึ้นได้
- หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากการมีปริมาณของเลือดที่เพิ่มขึ้นทำให้เส้นเลือดขยายตัว น้ำหนักของครรภ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่ส่งผลให้เกิดการเพิ่มความดันในช่องท้องและไปกดเส้นเลือด และจากการที่ร่างกายหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progestertone) เพื่อช่วยในการตั้งครรภ์ ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้ผนังเส้นเลือดดำเสียความยืดหยุ่นไป แต่อาการจะดีขึ้นหลังคลอดได้ประมาณ 3 เดือน (ยิ่งตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้งก็จะมีโอกาสเกิดเส้นเลือดขอดได้สูงมากขึ้น)
- ท้องผูกเรื้อรัง เพราะต้องออกแรงเบ่งอุจจาระเป็นประจำจนส่งผลให้มีการเพิ่มขึ้นของความดันในช่องท้องตลอดเวลา
- ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย ขาดการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือใช้ชีวิตที่สะดวกสบายเกินไป เพราะจะส่งผลทำให้กล้ามเนื้อขาเสื่อมประสิทธิภาพ ซึ่งกล้ามเนื้อขาเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการช่วยพยุงเส้นเลือดดำและช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ขา
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ที่ได้รับการผ่าตัดโดยเฉพาะบริเวณสะโพก ผู้ป่วยที่มีประวัติขาบวมหรือมีเส้นเลือดดำที่ขาอุดตันมาก่อนในอดีต ก็จะมีโอกาสเป็นโรคเส้นเลือดขอดได้มากกว่าคนทั่วไปด้วย
- การสัมผัสแสงเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้เกิดเส้นเลือดฝอยที่ใบหน้าได้ด้วย
อาการของเส้นเลือดขอด
อาการที่พบในระยะแรกเริ่มจะมองเห็นเส้นเลือดโป่งพองและคดเคี้ยวไปมา เห็นเป็นลายเส้นสีเขียวคล้ำใต้ผิวหนัง ลักษณะเหมือนตัวหนอนหรือไส้เดือน (โดยเฉพาะเวลายืน ส่วนจะมีจำนวนมากหรือน้อยนั้นก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงที่เป็น) โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด
ตำแหน่งที่พบได้บ่อย ได้แก่ บริเวณน่อง (แต่อาจพบบริเวณใดก็ได้ที่อยู่ระหว่างตาตุ่มขึ้นไปถึงสะโพก) ซึ่งโดยทั่วไปมักเกิดกับขาทั้งสองข้างมากน้อยแตกต่างกันไป แต่ในบางครั้งอาจเกิดกับขาเพียงข้างเดียวก็ได้ ถ้ามีสาเหตุมาจากการมีก้อนเนื้อในอุ้งเชิงกรานที่กดทับเส้นเลือดดำในอุ้งเชิงกรานเพียงข้างเดียว หรือเกิดจากการมีภาวะเส้นเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือดเพียงข้างเดียว นอกจากนี้ ในหญิงตั้งครรภ์อาจพบเส้นเลือดขอดที่บริเวณช่องคลอดได้ด้วย
เมื่อเป็นมากขึ้นอาจทำให้มีอาการปวดหน่วงหรือปวดเมื่อยในบริเวณนั้น ๆ หรือมีอาการเท้าบวมหลังจากยืนเป็นเวลานาน ๆ ซึ่งอาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นในตอนบ่ายหรือเย็นและในขณะที่ผู้หญิงมีประจำเดือนหรือก่อนมีประจำเดือน 2-3 วัน และผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อนอนราบและยกขาขึ้นสูง
ถ้าเป็นรุนแรงอาจมีผื่นคันขึ้นในบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด โดยเฉพาะตรงบริเวณใกล้ ๆ กับข้อเท้า และผิวหนังในบริเวณนั้นอาจออกเป็นสีคล้ำ
อาการของเส้นเลือดฝอยที่ขา
เส้นเลือดฝอยที่ขาจะมีขนาดเล็ก ๆ สีแดง สีเขียว หรือสีออกม่วง และอาจพบเกิดได้ที่บริเวณอื่นด้วยโดยเฉพาะบริเวณใบหน้า

ภาวะแทรกซ้อนของเส้นเลือดขอด
โดยทั่วไปโรคนี้มักไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายและไม่ทำให้เสียชีวิต แต่จะส่งผลถึงความสวยงาม จึงมีผลต่อคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะในผู้หญิง ส่วนภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้นอกจากความสวยงามแล้ว คือ อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยขา รู้สึกขาล้าหรือหนัก ๆ ที่ขา ขาบวม เป็นตะคริว เหน็บชา มีขากระตุก (โดยเฉพาะเมื่อไม่มีการใช้ขาเป็นเวลานาน เช่น เวลานอน) มีอาการคันขาหรือเท้าโดยเฉพาะตรงข้อเท้า (เพราะผิวหนังได้รับการระคายเคืองจากการมีเลือดคั่ง)
- อาจทำให้เกิดแผลบริเวณขาและเท้าได้ง่าย ซึ่งแผลที่เกิดจะหายได้ช้า เนื่องจากการไหลเวียนของเลือดไม่ดี และถ้าแผลมีเลือดออก เลือดก็มักจะออกมากและหยุดไหลช้าเนื่องจากการมีความดันในเส้นเลือดดำที่สูงกว่าปกติ
- หากหกล้มหรือถูกของมีคมบาดตรงบริเวณที่มีเส้นเลือดขอด อาจทำให้เกิดแผลเลือดออกรุนแรงได้
- เมื่อมีเส้นเลือดขอดเรื้อรัง สีของเท้าจะคล้ำแดงขึ้นหรือออกดำคล้ำจากการคั่งของเลือด ซึ่งจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิวหนังและของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณข้อเท้าอาจแข็งจากการแข็งตัวของไขมันใต้ผิวหนัง
- ในรายที่เป็นรุนแรง ผิวหนังในบริเวณนั้นอาจแตกและกลายเป็นแผลเรื้อรัง เรียกว่า “แผลจากเส้นเลือดขอด” (Varicose ulcer)
- ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดอาการอักเสบของเส้นเลือดดำ (Thrombophlebitis) ซึ่งมักจะเป็นที่บริเวณผิว เรียกว่า “ภาวะเส้นเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด” (Deep vein thrombosis) ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องรีบรักษา โดยมีอาการสำคัญคือขาบวมทันทีร่วมกับปวดขา
การวินิจฉัยโรคเส้นเลือดขอด
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเส้นเลือดขอดได้จากการซักประวัติอาการและการตรวจร่างกาย (โดยเฉพาะการตรวจเห็นเส้นเลือดขอดที่ขา ซึ่งก็จะเป็นตัวช่วยวินิจฉัยโรคนี้ได้ ซึ่งแพทย์จะตรวจดูเส้นเลือดขอดทั้งท่ายืนและท่านอน) โดยไม่มีความจำเป็นต้องตรวจพิเศษอื่น ๆ เพิ่มเติม ยกเว้นในรายที่แพทย์คิดว่ามีภาวะแทรกซ้อน เช่น ผู้ป่วยมีแผลเรื้อรังที่ขา ขาบวม เคยมีประวัติการถูกยิงหรือถูกแทงที่ขา มีเส้นเลือดที่ขาข้างเดียวในขณะที่ขาอีกข้างยังปกติ มีเส้นเลือดขอดเกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก มีกระดูกหักนำมาก่อนที่จะมีเส้นเลือดขอด เป็นต้น
สำหรับในรายที่มีภาวะแทรกซ้อนร่วมด้วยดังกล่าว การส่งตรวจพิเศษจะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยในการวางการรักษาได้อย่างถูกต้อง (การส่งตรวจพิเศษโดยทั่วไปสามารถตรวจได้ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด โรงพยาบาลที่เป็นสังกัดของโรงเรียนแพทย์ เป็นต้น) ซึ่งการตรวจพิเศษเพิ่มเติมนั้นมีดังนี้
- การตรวจดูว่ามีการไหลย้อนกลับของเส้นเลือดดำหรือไม่ (Venous filling time)
- การตรวจดูว่ามีการอุดตันของเส้นเลือดดำหรือไม่ (Maximum venous outflow)
- การตรวจภาพเส้นเลือดและการไหลเวียนเลือดด้วยอัลตราซาวนด์ (Doppler ultrasound)
- การตรวจด้วยเครื่องแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance venography – MRV) โดยเฉพาะในรายที่สงสัยว่ามีความผิดปกติของเส้นเลือดดำส่วนลึก เช่น เคยมีประวัติขาบวมหรือมีแผลที่บริเวณข้อเท้า หรือมีลักษณะที่น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นเส้นเลือดขอดที่เป็นมาแต่กำเนิด เช่น Klippel–Trénaunay syndrome
- การฉีดสีเข้าเส้นเลือดดำที่ขอดแล้วเอกซเรย์ดูลักษณะของเส้นเลือด (Venography)
- การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) เพื่อดูการทำงานของเกล็ดเลือด
การรักษาเส้นเลือดขอด
การรักษาเส้นเลือดขอดมีจุดประสงค์เพื่อบรรเทาอาการ เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน เพื่อความสวยงาม (ทำให้ดูดีขึ้น) และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเส้นเลือดขอดมากขึ้น ซึ่งการจะรักษาด้วยวิธีใดนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของเส้นเลือดขอด ดุลยพินิจของแพทย์ และความต้องการของผู้ป่วย
- การรักษาเส้นเลือดขอดแบบไม่ต้องผ่าตัด (Conservative treatment) เป็นการเฝ้าระวังอาการและป้องกันไม่ให้อาการเป็นมากขึ้น การรักษาด้วยวิธีนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดเล็กมากหรือเป็นเส้นเลือดฝอยที่ขาขนาดเล็ก ๆ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร หรือน้อยกว่า โดยการใส่ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอด (Compression stocking) ตลอดเวลาที่ทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง ยกเว้นในขณะนอนที่ไม่ต้องใส่ (ถุงน่องนี้จะมีคุณสมบัติพิเศษที่แตกต่างจากถุงน่องทั่วไป คือ จะมีความดันที่บริเวณข้อเท้าประมาณ 20-25 มม.ปรอท ส่วนที่น่องและใต้เข่าจะมีความดันน้อยลงมาตามลำดับ จึงช่วยทำให้เลือดที่อยู่บริเวณขาไหลเวียนได้ดีขึ้น) และในขณะที่นอนให้ยกปลายเท้าให้สูงกว่าระดับหน้าอกประมาณ 30 องศาด้วย (อาจใช้หมอนหรือผ้าหนุนปลายเท้าให้สูงขึ้นก็ได้) เพื่อช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและช่วยให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น นอกจากนี้ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการดูแลตนเองตามข้อ 8 ด้วย
- การใช้ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดจะมีประโยชน์สำหรับเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มต้นหรือการใช้ร่วมภายหลังการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แต่จะไม่สามารถป้องกันการเกิดหรือทำให้เส้นเลือดขอดที่มีอยู่หายไปได้
- ปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดของการใช้ถุงน่องสำหรับเส้นเลือดขอดก็คือการลืมใช้หรือเพราะความไม่สะดวกในการสวมใส่จากสภาวะอากาศที่ร้อน โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคทางเส้นเลือดแดงร่วมด้วย เพราะมีรายงานการเกิดภาวะขาดเลือดของขาถึงกับต้องตัดขา ดังนั้นจึงควรตรวจสอบโดยการตรวจคลำชีพจรที่ข้อเท้าเสมอก่อนการใช้