เมื่อสัญญาณจาก “ผิวหนัง” บอกโรคอันตรายในตัวคุณ
ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจฉันใด ผิวพรรณก็เป็นสิ่งที่แสดงออกถึงความแข็งแรงสมบูรณ์ของสุขภาพร่างกายฉันนั้น เราทุกคนคงส่องกระจกเพื่อสำรวจรูปลักษณ์ภายนอกกันทุกวัน และบางท่านสำรวจกันวันละหลาย ๆ ครั้ง เชื่อหรือไม่ว่าเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อการสังเกตผิวหนังของเราได้อย่างถี่ถ้วน นอกจากจะช่วยให้เราดูดีแล้ว ถ้าสามารถช่วยให้ระแวดระวังโรคภัยต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ รศ.พญ. ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร ประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย จึงให้ข้อมูลในการสังเกตผิวหนังของเราเอาไว้ ดังนี้
ผิวดำคล้ำขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่มีเหตุผล
หากสังเกตตนเองแล้ว พบว่าผิวดำขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่ได้โดนแดดจัด หรือมีกิจกรรมกลางแจ้งแต่อย่างใด ผิวกลับคล้ำขึ้น พบปื้นดำตามเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ในกระพุ้งแก้ม ร่องเส้นลายมือกลายเป็นสีคล้ำ ริ้วรอยแผลเป็นต่าง ๆ ดำขึ้นเรื่อย ๆ อาการนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานยาบางอย่าง เช่น ยาลดความดัน หรือเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงโรคหลายชนิด เช่น โรคของต่อมหมวกไตที่สร้างฮอร์โมนได้น้อยกว่าปกติ การวินิจฉัยโรคนี้จะแน่ชัดก็เมื่อมีการพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างละเอียด
ผิวเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
หากสังเกตพบว่าผิวเหลืองขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะบ่งว่ามีตับอักเสบ หรือมีการอุดตันของทางเดินน้ำดีซ่อนอยู่ ภาวะนี้เรียกกันแต่เดิมว่า ดีซ่าน หากสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าผิวเริ่มเหลือง แนะนำให้ลองมองดูที่ตาขาว หากตาขาวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองด้วย รวมทั้งอุจจาระมีสีซีดลง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์อย่ารอช้า หากตัวเหลือง ฝ่ามือฝ่าเท้าเหลือง แต่ตายังไม่เหลือง ยังไม่ต้องตกใจ เนื่องจากการรับประทานผลไม้สีเหลือง เช่น มะละกอ ฟักทอง จำนวนมาก ๆ สารแคโรทีนในผัก ผลไม้ เหล่านี้ จะทำให้ผิวเหลืองขึ้นได้ หากหยุดกินสีเหลืองก็จะค่อย ๆ จางลงและหายไปเองได้
พบผื่นดวงขาว ๆ ที่ผิวหนัง
ถ้าเป็นดวงสีขาว และสีขาวจัดจนเหมือนกระดาษขาว เห็นขอบเขตได้ชัด ที่ใบหน้า แขนขารอบดวงตา ริมฝีปากหรือในลำตัว อาจจะเป็นอาการแสดงของโรคด่างขาว ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดสีถูกทำลาย ซึ่งผู้ป่วยด้วยโรคด่างขาวนี้ ส่วนหนึ่งมีโรคของต่อมไทรอยด์ซ่อนอยู่ จึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อจะได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด นอกจากจะป้องกันโรคที่แอบซ่อนอยู่ได้แล้ว ยังอาจจะรักษาให้ผิวกลับมาสวยเหมือนเดิมได้ด้วย
สิวขึ้นแถมประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
หากสิวขึ้นเยอะมาก ๆ หน้ามัน น้ำหนักตัวขึ้น เริ่มเห็นหนวด ขนดกยาวและประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เหล่านี้อาจเกิดจากฮอร์โมนที่ผิดปกติไปเนื่องจากโรคถุงน้ำในรังไข่ได้ ดังนั้นแม้เป็นสิวอย่านิ่งนอนใจ หากสิวเริ่มไม่ชิลล์อย่างที่คิด แถมด้วยอาการผิดปกติดังข้างต้น อย่าลืมแจ้งให้หมอผิวหนังของท่านทราบ เพื่อจะได้ส่งตรวจต่อได้อย่างทันท่วงที
ผิวแห้งแตกระแหง
เมื่ออายุมากขึ้น ผิวจะแห้งลงตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณหน้าแข้ง ซึ่งเราจะเห็นผู้สูงอายุหลายท่านมีปัญหาผิวพรรณที่แห้งมากถึงขั้นอักเสบเป็นผื่นได้เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหากผิวแห้งหนักมาก แม้ทาโลชั่นครีมบำรุงก็ยังไม่ดีขึ้น แต่กลับแห้งแตกระแหงเป็นเกล็ดปลา ดังนี้อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเกิดการขาดสารอาหารบางอย่าง เช่น กรดไขมันจำเป็น หรืออาจจะเป็นโรค เช่น มะเร็งในต่อมน้ำเหลือง หรือเกิดการติดเชื้อบางอย่างขึ้น หากมีผิวแห้ง แนะนำเบื้องต้นให้บำรุงรักษาผิวให้ชุ่มชื้น งดการอาบน้ำที่อุ่นจัดจนเกือบร้อน หรือใช้สบู่ที่มีฤทธิ์เป็นด่างสูง หมั่นทาครีมบำรุงอย่างสม่ำเสมอ สำรวจคลำก้อนที่บริเวณต่าง ๆ เช่น คอ รักแร้ หรือขาหนีบ โดยก้อนที่เป็นมะเร็งนั้น มักไม่เจ็บต่างจากการติดเชื้อทั่วไป หากยังไม่ดีขึ้นหรือคลำได้ก้อนแนะนำให้พบแพทย์ทันที
คัน คัน คัน
อาการคันเป็นอาการที่มาคู่กับผิวแห้ง หากผิวแห้งจะคันได้มาก แต่ในบางท่านอาการคันเป็นมาก จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือถึงขั้นนอนไม่หลับเลยทีเดียว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีผื่นแพ้ ไม่มีลมพิษ หากมีอาการเช่นนี้ อาจเกิดจากการสะสมของสารที่ก่อให้เกิดการคันในร่างกาย ซึ่งพบได้ในโรคไตวายเรื้อรัง โรคตับ ในบางราย มีอาการคันมากหลังอาบน้ำ ซึ่งเป็นอาการแสดงเบื้องต้นของโรคเลือดบางชนิดอีกด้วย
ผมร่วงมาก
โดยปกติผมจะร่วงจากหนังศีรษะเป็นประจำอยู่แล้ว เนื่องจากต้องมีการผลัดเปลี่ยนให้ผมเส้นใหม่ขึ้นมาแทนที่ แต่หากผมก็ร่วงเยอะมาก ๆ โดยเฉลี่ยเกิน 100 เส้นต่อวัน หรือแค่ลูบหรือดึงเบาๆ ก็หลุดติดมือออกมา อาจแสดงถึงความผิดปกติ เช่น เกิดจากยาบางอย่าง ภาวะเครียดของร่างกายอย่างรุนแรง โรคภูมิแพ้ตนเอง หรือโรคของต่อมไทรอยด์ ลองสังเกตอาการผิดปกติอย่างอื่นร่วมไปด้วย เช่น มีผื่นแพ้แสง แผลในปากด้วยหรือไม่ อาจจะเป็นอาการของโรคแพ้ภูมิตนเองที่เรียกว่า เอสแอลอี (SLE) มีเหงื่อแตก ใจสั่น น้ำหนักลด หงุดหงิดง่าย ซึ่งอาจเป็นอาการของฮอร์โมนต่อมไทรอยด์มากเกินไป
สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยตระหนักอยากให้ทุก ๆ คนหมั่นดูแลตนเองอย่างสม่ำเสมอ และสังเกตการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและร่างกายจะช่วยให้พบกับความผิดปกติหรือโรคได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที เกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ทางผิวหนังอาจช่วยให้ท่านป้องกันโรคร้ายได้อย่างไม่น่าเชื่อเลยทีเดียว
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :รศ.พญ. ภาวิณี ฤกษ์นิมิตร ประชาสัมพันธ์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย,www.sanook.com
ภาพ :iStock