6 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับภาวะ “ไขมันพอกตับ
ไขมันพอกตับ คืออะไร?
ไขมันพอกตับคือภาวะสะสมไขมันซึ่งส่วนมากอยู่ในรูปแบบของไตรกลีเซอไรด์ในเซลล์ตับ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น
- ดื่มสุราเป็นประจำ
- มีรูปร่างอ้วน
- ขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ
- อายุ 45-50 ปีที่ขาดการออกกำลังกาย หรือมีกิจกรรมประจำวันน้อยลง
- เป็นโรคเบาหวาน
- มีไขมันในเลือดสูง
- กินยาบางชนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่น ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ และยาในกลุ่มที่เป็นฮอร์โมนทดแทน
- ความดันโลหิตสูง
เนื่องจากภาวะไขมันพอกตับ เป็นภาวะที่คนอาจไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก และอาจไม่ทราบถึงภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ดูแลร่างกายให้ดี Sanook Health จึงรวบรวม 6 ข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับภาวะ “ไขมันพอกตับ” ที่หลายคนอาจไม่เคยทราบ
6 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับภาวะ “ไขมันพอกตับ”
1 ไขมันพอกตับ พบได้ค่อนข้างบ่อยในไทย
แม้จะว่าภาวะไขมันพอกตับจะยังไม่คุ้นหูของใครหลายคน แต่ที่จริงแล้วภาวะไขมันพอกตับสามารถพบได้ค่อนข้างบ่อยในกลุ่มผู้ป่วยในประเทศไทย จากสถิติพบว่าคนไทย 4 ใน 10 คน มีภาวะไขมันพอกตับเลยทีเดียว
2 ไขมันพอกตับ ไม่มีอาการในระยะแรก
เรื่องที่น่าหนักใจสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับ คือ ในระยะแรกจะไม่ปรากฏอาการใดๆ ให้พอจะสังเกตได้อย่างชัดเจน ดังนั้นผู้ป่วยหลายคนจึงอาจไม่ทราบว่าตัวเองกำลังเป็นโรคนี้ และอาจยังคงไม่ระมัดระวังในการกินอาหาร และการดำเนินชีวิตต่างๆ จนกระทั่งตรวจพบในภายหลัง หรืออยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วงแล้ว
3 พบบ่อยในคนอ้วน แต่ผอมลงพุงก็เป็นได้
แม้ว่าภาวะไขมันพอกตับจะพบได้บ่อยๆ ในคนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน และคนที่เป็นโรคอ้วน รวมถึงคนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคเบาหวาน แต่ในคนที่มีรูปร่างผอม แต่อ้วนลงพุง ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไขมันพอกตับได้เช่นกัน
4 น้ำตาลคือสาเหตุสำคัญของไขมันพอกตับ
อาจจะคิดว่าไขมันพอกตับ มาจากการกินอาหารไขมันสูงเพียงอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วอีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการกินอาหารที่มีน้ำตาลสูง ทั้งน้ำตาลฟรุคโตสที่อยู่ในน้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้สำเร็จรูป และน้ำตาลในขนมหวานต่างๆ ล้วนเป็นสาเหตุที่อันตรายต่อการเกิดภาวะไขมันพอกตับได้ทั้งสิ้น
5 ตรวจภาวะไขมันพอกตับได้จากการตรวจสุขภาพทั่วไป
แม้ว่าจะเป็นภาวะที่ไม่มีอาการเริ่มต้น แต่ก็สามารถตรวจหาเจอภาวะไขมันพอกตับได้ง่ายๆ จากการตรวจสุขภาพทั่วไป และการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น การตรวจจากผลเลือด การทำอัลตร้าซาวนด์ และการทำไฟโบรสแกน โดยเป็นเทคโนโลยีใช้ในการประเมินพังผืดในเนื้อตับ เพื่อดูแลสภาวะตับแข็งและปริมาณไขมันสะสมในตับ ลดอัตราความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการเจาะตับ ไม่ต้องเจาะตับ และผู้ป่วยจะไม่เจ็บ
6 รักษาได้แค่ลดน้ำหนัก และลดของหวาน
หากผู้ป่วยตรวจพบอาการของภาวะไขมันพอกตับได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ยังไม่มีอาการหนักมาก สามารถรักษาได้ง่ายๆ แค่เพียงลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ลดการบริโภคอาหารไขมันสูง อาหารหวาน และออกกำลังกายเป็นประจำ
อย่างไรก็ตาม หากไม่แน่ใจว่าตัวเองเสี่ยง หรือกำลังอยู่ในภาวะไขมันพอกตับหรือไม่ สามารถเข้ารับการตรวจสุขภาพได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :Twitter @thidakarn หมอผิง-พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์วุฒิบัตรเวชศาสตร์ชะลอวัย
ภาพ :iStock
ข้อมูล www.sanook.com