สัญญาณอันตราย “หมอนรองกระดูกทับเส้น” วัยทำงานเสี่ยง
“หมอนรองกระดูกทับเส้น” อาจจะมีหลายคนที่เคยได้ยินชื่อโรคนี้กันมาบ้าง แต่อาจจะคิดว่าเป็นโรคที่ไกลตัว เราอาจไม่มีความเสี่ยง และอาจจะพบได้เฉพาะในผู้สูงอายุ อันที่จริงแล้วหมอนรองกระดูกทับเส้นเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นในวัยทำงาน โดยเฉพาะชาวออฟฟิศ รวมถึงคนที่ไม่ค่อยขยับร่างกายมากนักในระหว่างวัน
เฟซบุ๊กเพจ หมอแล็บแพนด้า หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ หัวหน้างานตรวจโรคติดเชื้อทางโลหิตวิธีอณูชีววิทยา ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย อธิบายถึงอันตรายของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น เอาไว้ดังนี้
โรคหมอนรองกระดูกทับเส้น พบได้มากขึ้นในวัยทำงาน
แต่ก่อนโรคนี้จะพบเจอในคนสูงวัย คนที่ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หกล้ม หรือยกของหนักเกินกำลัง แต่เดี๋ยวนี้เริ่มเกิดขึ้นมากในวัยทำงาน โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่นั่งทำงานยาวตลอด 8 ชั่วโมง โดยที่ไม่ลุกขยับไปไหนมาก บางคนก็นั่งเล่นเกมดึก พฤติกรรมการนั่งทำงานแบบนี้ จะทำให้โครงสร้างกระดูกสันหลังเกิดการทรุดตัวจนไปเบียดทับเส้นประสาท
อาการของโรคหมอนรองกระดูกทับเส้น
- ปวดบริเวณหลัง และเอวอยู่เรื่อยๆ ปวดไม่มาก แต่รู้สึกชาบ่อยๆบริเวณขา น่อง และเท้า
- มีอาการคล้ายเหน็บชา หรือตะคริวถี่ๆ บางครั้งเป็นจนไม่สามารถเดินต่อได้
- หนักเข้าอาจรุนแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กระดกเท้าไม่ขึ้น เข้าสู่ภาวะอัมพาตเฉียบพลัน
- บางคนก็ควบคุมการขับถ่ายได้ลำบากขึ้น
ถ้าเราเป็นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ควรรีบพบแพทย์ แพทย์จะหาวิธีการรักษาที่เหมาะกับอาการของโรค ซึ่งมีวิธีรักษาหลากหลายวิธีมาก
แต่เราสามารถดูแลตัวเองในเบื้องต้น และช่วยกันทะนุถนอมเพื่อไม่ให้ร่างกายทรุดหนักกว่าเดิมได้ เรามีร่างกายแค่ร่างเดียวอย่าไปใช้งานมันหนักเกินไป
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :เฟซบุ๊กเพจ หมอแล็บแพนด้า,www.sanook.com
ภาพ :iStock