แผลร้อนใน กับ 15 วิธีแก้แผลร้อนในให้หายเร็วๆ
แผล “ร้อนใน” ที่ทำให้แสบทุกครั้งที่รับประทานอาหาร หรือแม้กระทั่งอยู่เฉยๆ ก็รู้สึกทรมาน เป็นแผลที่หลายคนน่าจะเคยเป็นกันมาบ้าง และรับรู้ถึงความทรมายของเจ้าแผลในปากนี้ได้เป็นอย่างดี บางคนเป็นบ่อย บางคนก็ไม่ค่อยเป็น สาเหตุของแผลร้อนในคืออะไร แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะหายเร็วๆ มาดูวิธีกัน
สาเหตุของแผลร้อนใน
แผลร้อนใน (Aphthous Ulcers) หรือแผลในปาก (Mouth Ulcers) เป็นอาการที่เยื่อบุอ่อนภายในช่องปากอักเสบ บางครั้งอาจเป็นแผลอักเสบที่ค่อนข้างลึก บริเวณที่เกิดแผลสามารถพบเห็นได้ทั่วช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นกระพุ้งแก้ม เพดานปาก เหงือก ลิ้น ฯลฯ มีสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น
- ภูมิต้านทานโรคในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ช่วงที่มีประจำเดือนที่ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง
- เครียดสะสม
- ดื่มน้ำน้อยเกินไป
- พักผ่อนไม่เพียงพอ
- มีแผลกดทับ หรือเสียดสีจากฟันปลอมที่หลวมเกินไป หรือเหล็กดัดฟันไม่พอดีกับฟัน
วิธีแก้แผลร้อนในให้หายเร็วๆ
- วิธีแก้ร้อนในวิธีแรกคือ บ้วนปากด้วยน้ำเกลือทุก 2 ชั่วโมง หรือหลังอาหารทุกมื้อ
- หลีกเลี่ยงน้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้แผลร้อนในระคายเคือง และแห้งตึงจนเกินไป
- เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่มวันละ 2 ครั้ง หรือหลังรับประทานอาหาร
- หากมีแผลร้อนในที่ค่อนข้างใหญ่ และลึก จนมีอาการเจ็บปวดมาก สามารถใช้ผ้าสะอาดพันปลายนิ้ว เช็ดทำความสะอาดฟัน เหงือก และซอกฟันแทนการใช้แปรงสีฟันชั่วคราวได้
- เลือกใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ เพื่อป้องกันฟันผุ
- เลือกรับประทานอาหารที่มีลักษณะอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย
- หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารรสจัด (เปรี้ยวจัด เค็มจัด เผ็ดจัด)
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีอุณหภูมิเย็นจัด และร้อนจัด
- งดอาหาร และสิ่งที่ทำให้เกิดอาการระคายเคืองในช่องปาก เช่น เหล้า บุหรี่ หมากพลู เป็นต้น
- ดื่มน้ำผลไม้ไม่แยกกาก เพื่อป้องกันอาการท้องผูก ที่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงที่รับประทานอาหารได้ไม่หลากหลาย หรือรับประทานผักผลไม้ได้ไม่มาก จากอาการเจ็บแผลร้อนใน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อคืน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ วันละ 30 นาที-1 ชั่วโมง สัปดาห์ละอย่างน้อย 3-4 ครั้ง
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เช็กได้จากสีปัสสาวะ ดื่มน้ำจนกว่าปัสสาวะจะเป็นสีเหลืองอ่อน
- พยายามลดความเครียด ด้วยการหากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากเรื่องที่เครียด
- หากแผลร้อนในค่อนข้างใหญ่ และไม่ดีขึ้นหลังจากทำทุกวิธีแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อพิจารณายาทาแผลให้หายไวยิ่งขึ้น
**เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการรักษาแผลร้อนใน หรือแผลในปาก
ยังไม่มีรายงานการแพทย์ใดๆ ยืนยันได้ว่า การรับประทานยาขม จะช่วยรักษาแผลร้อนในได้ และเมื่อมีแผลร้อนใน หรือแผลที่อักเสบบริเวณริมฝีปาก ไม่ควรใช้เยนเชี่ยน ไวโอเล็ตทา (Gentian Violet หรือยาม่วง) เพราะจะทำให้ริมฝีปากแตกแห้งมากขึ้น และแผลยิ่งแตกมากขึ้นไปด้วย
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :อ.พญ. ดนิตา กานต์นฤนิมิต โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย,โรงพยาบาลสุขุมวิท,Honest Docs
ภาพ :GettyImages
ข้อมูล www.sanook.com