ฟันเด็ก จัดได้ตอนนอายุเท่าไหร่
เกี่ยวกับการจัดฟันเด็กมาฝากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ เพื่อช่วยในการตัดสินใจว่าจะพาลูกไปจัดฟันดีไหม รวมถึงมีอะไรที่ควรรู้เกี่ยวกับการจัดฟันครั้งแรกของลูกน้อยบ้าง
จัดฟันเด็กมีอะไรที่ต้องรู้บ้าง
ในการจัดฟันเด็กพ่อ แม่ ผู้ปกครองจำเป็นที่จะต้องศึกษาเกี่ยวกับวิธีการจัดฟัน อุปกรณ์ที่ใช้ในการจัดฟัน เช่น ยางจัดฟัน, แบร็คเก็ต ฯลฯ ข้อควรรู้อื่นๆ อย่างการดูแลทั้งก่อน ระหว่างจัดฟัน และหลังจัดฟัน เพื่อทำให้การจัดฟันนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด นอกจากนี้ยังต้องรู้ด้วยว่าควรที่จะทำการเลือกคลินิกจัดฟันเด็กอย่างไร จึงจะปลอดภัยสำหรับลูกน้อย ซึ่งเรื่องนี้ก็มักจะเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วย
แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะในบทความนี้เราได้รวบรวมทุกเรื่องที่ควรรู้มาให้ครบ จบ ในที่เดียว ถ้าพร้อมแล้วตามไปดูพร้อมๆ กันเลย!
เด็กคนไหนต้องจัดฟันบ้าง
แล้วปัญหาฟันของเด็กๆ ในรูปแบบใดบ้างที่สามารถทำการจัดฟันได้ ลองตรวจสอบดูได้จากตัวอย่างของปัญหาในรูปแบบต่างๆ ที่เรารวบรวมมาให้ได้เลย ดังนี้
- ฟันเกิน คือ ภาวะที่มีฟันขึ้นมาเกินปกติ ซึ่งฟันเกินอาจจะงอกขึ้นมาหรือฝังอยู่ในขากรรไกร สามารถพบได้ทั้งในฟันน้ำนมและฟันแท้ มีผลทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ฟันงอกผิดตำแหน่งหรือขวางฟันซี่อื่น เป็นต้น
- ฟันสบ อย่างการเกิดฟันสบลึก (Deep Bite) ทำให้ฟันหน้าบนคร่อมปิดฟันหน้าล่างมากกว่าปกติ ซึ่งทำให้มีโอกาสเกิดฟันสึก เสียวฟัน หรือถ้าโตขึ้นไปแล้วไม่ได้ทำการรักษาก็อาจจะทำให้เกิดความเสียหายให้กับเหงือกและรากฟันหน้าได้
- ฟันซ้อน ฟันเก หรือฟันขึ้นผิดตำแหน่ง เป็นลักษณะของฟันที่มีการขึ้นหรือวางตัวที่ผิดปกติ เช่น เรียงตัวซ้อนกันกับฟันซี่อื่น, ฟันขึ้นบิดเบี้ยวผิดรูป เป็นต้น
- ฟันหรือลักษณะขากรรไกรมีความผิดปกติ อาจทำให้มีปัญหาขากรรไกรค้าง หรืออ้าปากแล้วเบี้ยว ไปจนถึงมีปัญหาในการบดเคี้ยวอาหารได้
จัดฟันเด็กจำเป็นไหม
การจัดฟันเด็กนั้นจำเป็นแค่ไหน เรื่องนี้จะขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล เพราะในเคสบางเคสที่เด็กไม่ได้มีปัญหามากก็อาจจะไม่จำเป็นต้องจัดฟันเลย แต่ถ้าลักษณะของฟันมีความผิดปกติมากจนทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตก็อาจจะจำเป็นที่จะต้องทำการจัดฟัน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินจากทางทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนตัดสินใจ
เครื่องมือจัดฟันเด็ก
เครื่องมือจัดฟันเด็กจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
-
เครื่องมือจัดฟันแบบติดตั้งถาวร
แบ่งออกได้หลายรูปแบบ เช่น
- จัดฟันแบบโลหะ จะเป็นการจัดฟันที่หลายคนคุ้นเคยมากที่สุดเพราะเป็นการติดตั้งเครื่องมือไว้ให้เห็นบริเวณผิวหน้าของฟัน แบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบใช้ยางรัดและไม่ใช้ยางรัด (O-ring) นอกจากนี้ยังไม่สามารถถอดเครื่องมือออกได้
- จัดฟันแบบดามอน จะเป็นการจัดฟันที่ติดตั้งเครื่องมือบนผิวหน้าฟันเช่นกัน แต่แบร็คเก็ตจะเป็นสีโลหะล้วนหรือสีใส ใช้ระยะเวลาในการจัดฟันน้อยกว่าแบบโลหะ เพราะว่าฟันสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วกว่า
- จัดฟันเซรามิก จะเป็นการจัดฟันแบบติดตั้งเครื่องมือแต่ให้สีและความใสใกล้เคียงกับสีฟันมากที่สุด เหมาะกับคนที่ไม่อยากให้เห็นว่ากำลังจัดฟัน หรือมีอาการแพ้เหล็กจัดฟันโลหะ
2 เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้
จะเป็นวิธีการจัดฟันรูปแบบใหม่ที่เรียกกันว่า จัดฟันแบบใส ซึ่งสามารถถอดเครื่องมือออกได้ ตัวของเครื่องมือเองก็มีลักษณะเป็นพลาสติกใสที่ออกแบบมาให้เป็นรูปฟันของเด็กๆ เฉพาะบุคคล ข้อดีของการจัดฟันแบบใส คือ ลดปัญหาความเจ็บจากการติดตั้งเครื่องมือถาวร ทำความสะอาดช่องปากได้ง่าย มีหลายชิ้นตลอดการรักษา ใช้เวลาในการจัดฟันน้อย แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของแต่ละเคสด้วยว่ายากง่ายต่างกันอย่างไร ส่วนค่าใช้จ่ายก็จะแพงกว่าการจัดฟันแบบติดตั้งเครื่องมือ
จัดฟันเด็กได้ตอนไหน
เด็กๆ จะสามารถจัดฟันเด็กได้ตอนไหน ควรมีอายุเท่าไหร่จึงจะสามารถทำการจัดฟันได้ ต้องบอกว่ารูปแบบการจัดฟันของเด็กจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบตามลักษณะของฟัน คือ
- มีฟันชุดผสม โดยจะเป็นช่วงที่เด็กมีช่วงอายุประมาณ 7-12 ปีที่เด็กจะยังมีฟันผสมกันอยู่ระหว่างฟันแท้และฟันน้ำนม ช่วงนี้ก็สามารถทำการจัดฟันได้เช่นกัน โดยจะมีประโยชน์ในการช่วยวางพื้นที่สำหรับฟันแท้ที่จะขึ้นมาทดแทนต่อไปได้
- มีฟันแท้ขึ้นครบแล้ว โดยจะเป็นช่วงที่เด็กมีช่วงอายุประมาณ 12-13 ปีที่นอกจากจะมีฟันแท้ขึ้นครบแล้ว ขากรรไกรของเด็กจะเริ่มมีการเจริญเติบโต ทำให้การขยายหรือลดรูปร่างขากรรไกรทำได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่า เหมาะสำหรับการจัดฟันเด็กมากขึ้นด้วย
ขั้นตอนการจัดฟันของเด็กที่พ่อแม่ต้องรู้
มาถึงขั้นตอนสำคัญของการจัดฟันเด็กที่คุณแม่และคุณพ่อควรรู้ ซึ่งจะมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
- ในกรณีที่ต้องติดตั้งเครื่องมือจัดฟัน เช่น จัดฟันแบบโลหะ จะมีข้อปฏิบัติในขณะจัดฟันดังนี้
- หลังจากตัดสินใจว่าจะจัดฟันเด็กแบบโลหะ ทันตแพทย์จะทำการนัดหมายมาเพื่อติดตั้งเครื่องมือจัดฟัน
- ทันตแพทย์จะทำการขัดทำความสะอาดฟันให้สะอาด
- ทำการเป่าฟันหลังจากขัดแล้วให้แห้ง
- ทำการทากรดกัดฟัน หลังจากนั้นทำการล้างออก
- ทำการทากาวสำหรับยึดตัวแบร็คเก็ต แล้วทำการติดแบร็คเก็ตลงไป
- ทำการฉายแสงเพื่อให้กาวกับแบร็คเก็ตติดกัน
- ทำการใส่ลวดและยางโอริง ส่วนในบางเคสอาจจะมีการติดตั้งเครื่องมือพิเศษอื่นๆ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนและแผนในการรักษา
- ในกรณีที่จัดฟันแบบใส จะมีข้อปฏิบัติในขณะจัดฟันดังนี้
- หลังจากทำการทดสอบการกลืน ประเมินช่องปาก ไปจนถึงเคลียร์ช่องปากแล้ว ทันตแพทย์จะทำการสแกนฟัน 3 มิติด้วยเครื่องสแกนชนิด iTero
- หลังจากนั้นจะทำการวางแผนการเคลื่อนฟันผ่าน ClinCheck
- เมื่อทำเสร็จแล้วจะมีการนัดคนไข้เข้ามาดู ClinCheck เพื่อดูการเคลื่อนของฟัน และให้คนไข้ทราบถึงจำนวนชิ้นเครื่องมือ และรูปฟันเมื่อจัดเสร็จ
- สุดท้ายจะเป็นขั้นตอนผลิตเครื่องมือ ซึ่งเครื่องมือจะผลิตที่สหรัฐอเมริกา และส่งกลับมายังคลินิก เพื่อทำการจัดฟันให้กับคนไข้ต่อไป
หลังการจัดฟันเด็ก ควรดูแลฟันของเด็กอย่างไร
หลังการจัดฟันเด็กพ่อ แม่ และผู้ปกครองจะต้องทำการดูแลสุขภาพภายในช่องปากของเด็กๆ อย่างละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น…
- เลือกใช้แปรงสีฟันสำหรับคนจัดฟันโดยเฉพาะ รวมถึงทำการแปรงฟันอย่างถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หรือแปรงทุกครั้งหลังมื้ออาหารอย่างน้อย 30 นาที
- ควรใช้แปรงซอกฟันหรือไหมขัดฟันเพื่อทำความสะอาดซอกฟันให้สะอาด
- ช่วงจัดฟันควรงดอาหารที่แข็ง เหนียว เคี้ยวยาก เพราะอาจกระทบกับเครื่องมือที่ใช้ในการจัดฟันได้ เช่น ทำให้ลวดหลุด เป็นต้น
- พบทันตแพทย์ตามที่นัดหมายทุกครั้ง และปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
- ทำการตรวจสุขภาพภายในช่องปากทุกๆ 6 เดือน เพื่อดูแลเรื่องหินปูนหรือฟันผุ