อันตรายจาก “ไขมันพอกตับ” ภัยเงียบ “มะเร็งตับ”

5 มีนาคม 2024 0 Comments

ปัจจุบันผู้คนสามารถเกิดโรคภัยไข้เจ็บได้ง่ายขึ้น ยิ่งโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน ยิ่งพบเจอได้ง่าย เวลาตรวจสุขภาพต้องมานั่งลุ้นว่า คอเลสเตอรอลจะเกินไหม ไตรกลีเซอไรด์จะพุ่งหรือไม่ โดยเฉพาะค่าน้ำตาลในเลือดที่มีผลให้เกิดความเสี่ยงสารพัดโรค ซึ่งนอกจากโรคเบาหวานแล้ว ยังมีอีกหนึ่งโรคที่น่ากลัวไม่แพ้กัน คือ ไขมันพอกตับ เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่รับประทานแล้วไปใช้ได้หมด จนทำให้เกิดการสะสมอยู่ที่ตับ

ไขมันพอกตับ คืออะไร?

พญ.ปิติญา รุ่งภูวภัทร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ไขมันพอกตับเป็นภัยเงียบ เนื่องจากผู้ป่วยมักไม่รู้ตัวว่าตับมีความผิดปกติ เพราะส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ มักตรวจพบและได้รับการวินิจฉัยเมื่อมาตรวจสุขภาพประจำปี อาจมีอาการอ่อนเพลียควบคู่ไปด้วย มีอาการจุกแน่นบริเวณชายโครงขวา

กลุ่มเสี่ยงไขมันพอกตับ

ภาวะไขมันพอกตับโดยส่วนใหญ่มักพบในกลุ่มคนเหล่านี้

  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง
  • กลุ่มอาการอ้วนลงพุง ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวมาก
  • ชอบรับประทานอาหารหวาน ไม่ออกกำลังกาย

อันตรายจากไขมันพอกตับ

โดยส่วนใหญ่ไขมันพอกตับระยะแรกมักไม่มีอาการ แต่หากปล่อยทิ้งไว้จนเกิดการอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้กลายเป็นตับแข็ง และอาจนำไปสู่การเกิดเป็นมะเร็งตับในที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันพอกตับพบความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้มากกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งภาวะนี้เกิดจากร่างกายไม่สามารถนำไขมันที่เรารับประทานไปใช้ได้หมด ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่มีอาการ จึงอาจทำให้ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองกำลังอยู่ในภาวะไขมันพอกตับ

ดังนั้นการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หรือทุก 6 เดือน จะช่วยให้พบความผิดปกติของตับได้เร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะไขมันพอกตับสามารถตรวจเจอในระยะแรกๆ ด้วยวิธีการตรวจเลือด อัลตร้าซาวด์ หรือการตรวจด้วยเครื่อง FibroScan

วิธีการป้องกันไขมันพอกตับ

  1. ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว หรือ อาหารที่มีไขมันทรานส์สูง เช่น เนื้อติดมัน เบคอน แฮม น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เบเกอรี่ ครีมเทียม
  2. หลีกเลี่ยงน้ำตาลฟรุกโตส เช่น เครื่องดื่มที่มีรสหวาน คุกกี้ ลูกอม น้ำผลไม้ (ควรรับประทานผลไม้ทั้งผลมากกว่า)
  3. ควรรับประทานไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ถั่วต่างๆ ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาทูน่า
  4. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อย 4-5 วันต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-45 นาที
  5. หากใครอยู่ในเกณฑ์อ้วน คือ มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน ให้ลดน้ำหนักตัว สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกันว่าควรจะมีน้ำหนักประมาณเท่าไร
  6. ลดการดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 5-6 ชั่วโมงต่อวัน
  8. ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ก็จะช่วยให้สุขภาพตับของเราแข็งแรง พร้อมทำงานในทุกวัน

 

 

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :พญ.ปิติญา รุ่งภูวภัทร อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพระรามเก้า

ภาพ :iStock

ข้อมูล www.sanook.com