“เหงื่อออกมาก” ผิดปกติหรือไม่ แก้ไขอย่างไร

29 กุมภาพันธ์ 2024 0 Comments

บางครั้ง หรือหลายๆ ครั้งการที่เรามีเหงื่อออกมาตามร่างกาย ก็ไม่ได้มาจากอุณหภูมิร้อนๆ ในประเทศไทยเสมอไป อาการตื่นเต้น หรืออาการผิดปกติอื่นๆ ในร่างกาย อาจทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมามากผิดปกติได้เช่นกัน

ทำไมเราถึงมี “เหงื่อ”

พล.ต.ต.นายแพทย์วารินทร์ วชิรปัญญานุกูล ศัลยแพทย์อาวุโสผู้เชี่ยวชาญ ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง รพ. พญาไท นวมินทร์ ระบุว่า การหลั่งเหงื่อ คือการถ่ายเทความร้อนที่เกิดจากกระบวนการต่างๆ ในร่างกายออกไป เมื่อร่างกายเกิดความร้อน ร่างกายก็จะมีกลไกในการควบคุมหรือระบายความร้อน นั้นออกมาในรูปแบบของเหงื่อ เพื่อให้ความร้อนในร่างกายอยู่ในระดับที่เหมาะสม

เหงื่อออกแบบไหน ถึงเรียกว่าผิดปกติ

  • เหงื่อออกมากแบบไม่สัมพันธ์กับอากาศร้อน หรือไม่ได้มีการออกกำลังกาย
  • เหงื่อออกมากที่บริเวณรักแร้ ฝ่าเท้าและฝ่ามือ บวกกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น มีไข้ เบื่ออาหาร หรือผอมลงโดยไม่รู้สาเหตุร่วมด้วย และเกิดขึ้นติดต่อกันนาน 6 เดือน
  • เหงื่อออกมือออกเท้ามากเกินไปจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เหงื่อออกมือจนกำดินสอ ปากกา หรือสิ่งของต่างๆ ไม่ได้ เป็นต้น

สาเหตุของอาการเหงื่อออกมากเกินไป

1 เกิดจากภาวะความผิดปกติในร่างกาย

คนไข้ในกลุ่มนี้ จะมีเหงื่อในปริมาณมาก ออกทั่วร่างกาย แม้กระทั่งในเวลานอน ซึ่งมีสาเหตุมาจากผลข้างเคียงของโรคอื่นๆ เช่น

  • โรคไทรอยด์เป็นพิษ ทำให้ร่างการมีการเผาผลาญสูง
  • โรควัณโรคปอด
  • โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือมีภาวะอ้วนมากๆ
  • หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือน
  • การรับประทานยาบางชนิด

เป็นต้น

2 ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

เป็นภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ ที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และไม่ได้มีสาเหตุมาจากภาวะแทรกซ้อนของโรคอื่นๆ อาการที่พบคือ จะมีเหงื่อออกในบริเวณบางส่วนของร่างกาย เช่น ใบหน้า ศีรษะ รักแร้ ฝ่ามือ จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน

กลุ่มเสี่ยง พบได้บ่อยในกลุ่มคนอายุยังน้อยๆ วัยรุ่นที่อายุน้อยกว่า 25 ปี และพบได้ทั้งเพศชาย และหญิง

วิธีรักษาอาการเหงื่อออกมาก

แพทย์ต้องทำการวินิจฉัยหาสาเหตุก่อนว่าเหงื่อออกมากจากสาเหตุใด แล้วจึงพยายามเข้าไปแก้ไขที่สาเหตุนั้น ซึ่งในแต่ละคนอาจมีสาเหตุที่ทำให้เหงื่อออกมากไม่เหมือนกัน

แต่โดยทั่วไป วิธีรักษามีทั้งการกินยา หรือฉีดยา ไปจนถึงการผ่าตัด

  1. ไม่ต้องผ่าตัด  แพทย์อาจพิจารณายาทา หรือยาฉีดบางอย่างให้ผู้ป่วย แต่วิธีนี้ไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากอาการเหงื่อออกมากผิดปกติได้ เป็นเพียงการรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น
  2. ผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาวิธีผ่าตัดให้กับผู้ป่วย เพื่อเข้าไปทำลายปมประสาทบางส่วนที่ส่งสัญญาณมาบริเวณใบหน้า มือหรือรักแร้ ทำให้ไม่มีสัญญาณสั่งการส่งมาที่ต่อมเหงื่อปลายทาง จึงทำให้ไม่มีการหลั่งเหงื่อเกิดขึ้นที่บริเวณนั้นๆ

 

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :พล.ต.ต.นายแพทย์วารินทร์ วชิรปัญญานุกูล ศัลยแพทย์อาวุโสผู้เชี่ยวชาญ ด้านการผ่าตัดผ่านกล้อง รพ. พญาไท นวมินทร์,คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลเปาโล โชคชัย 4

ภาพ :iStock

ข้อมูล www.sanook.com